เก่อเส่ทู (เจริญ ดินุ) ที่รู้จักกันในนาม “ครุฑ” หลานของพะตีจอนิ โอ่โดเชา ปราชญ์กะเหรี่ยงอาวุโส เขาเป็นคนรุ่นถัดมาที่สืบทอดวัฒนธรรมปกาเกอะญอผ่านความคิดความเชื่อและทักษะความสามารถเล่นเครื่องดนตรีท้องถิ่นลักษณะคล้ายกีต้าร์ “เตหน่าโพ” นอกจากจะสนใจดนตรีแล้ว ครุฑยังใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เขาสังเกตว่าหมู่บ้านตนและถนนที่เชื่อมต่อไปยังหมู่บ้านอื่นๆ เต็มไปด้วยขยะ จึงเริ่มต้นเก็บขยะด้วยตนเอง
จนกระทั่งวันหนึ่ง ช่วงปีพ.ศ. 2559 เด็ก 2 คนในหมู่บ้านมาหาเขาเพื่อขอเรียนดนตรี เขาจึงได้สร้างข้อแลกเปลี่ยนกับเด็กๆ ขอเก็บค่าเล่าเรียนด้วยการเก็บขยะ
ด้วยความเชื่อที่จะเปลี่ยนวาทะ คำว่า “ขยะ” จากสิ่งสกปรกเป็นสิ่งน่ารัก เขาจึงเริ่มสอนเด็กๆ ในหมู่บ้านให้เก็บขยะ พร้อมๆ กับเล่นดนตรี แม้ผู้ปกครองจะไม่ไว้ใจ เพราะพาเด็กไปยุ่งกับสิ่งสกปรก แต่เมื่อเห็นเด็กๆ ได้ไปเล่นดนตรีออกงาน เห็นพัฒนาการ จึงเข้าใจว่าในสิ่งที่พวกเขาทำ
เด็กๆ ฝึกเล่นเตหน่า เครื่องดนตรีที่ครุฑลงประดิษฐ์เองทุกเครื่องจากขยะ โครงเครื่องทำจากไม้ซ้อง ที่เป็นไม้ล้มเอง อายุ 40-50 ปี ไม้เหล่านี้แปรียบเสมือนขยะของคนในหมู่บ้านเพราะเป็นไม้เนื้อแข็งปานกลางที่คนไม่นิยมเอาไปสร้างบ้านเพราะแข็งไม่พอ ทว่าเหมาะสมที่จะทำเป็นเครื่องดนตรีเพราะเสียงเพราะ น้ำหนักเบา อีกทั้งยังมีกลิ่นหอม ด้วยความเป็นไม้สมุนไพร ส่วนสายเครื่อง ซึ่งสมัยก่อนทำจากรากหญ้าที่ไม่ค่อยทนทาน ครุฑได้นำสายเบรกจักรยานหรือมอเตอร์ไซค์ รวมไปถึงปี๊ปที่ถูกทิ้งมาดัดแปลง
จากเด็กเพียง 2 คน ห้องเรียนขยายและต้อนรับสมาชิกมากขึ้น จนกระทั่งเข้าสู่ปีที่สี่นี้ มีนักเรียน 17 คน
พวกเขาเรียกตัวเองว่า “วงขยะลอแอะ” ลอแอะในภาษากะเหรี่ยง แปลว่า น่ารัก
เด็กๆ เล่นได้บ้าง เล่นไม่ได้บ้าง แต่ทุกคนหัวเราะและสนุกไปกับมัน ครูครุฑเล่าว่าได้ผสมผสานเพลงกับจังหวะใหม่ให้ทันสมัยขึ้น เพราะเด็กโตขึ้นมาคนละยุคกับคนรุ่นก่อน ไม่ได้ใช้ชีวิตในสมัยที่เพลงเก่าเขียน จึงอาจไม่รู้สึก ไม่เข้าถึง ไม่สุนทรีย์
เด็กๆ จึงได้เรียนรู้จักความเป็นปกาเกอะญอ ผ่านมุมมองยุคสมัยของเขาเอง
ทุกวันเสาร์อาทิตย์ เด็กๆ จึงออกภารกิจไปเก็บขยะตอนเช้าบริเวณใกล้หมู่บ้าน ขวดแก้ว กระป๋องน้ำ ซองขนม รวมมาชั่งกิโลขาย หรือเอามาทำความสะอาดแล้วใช้ประโยชน์ต่อ เช่น ใช้ขวดสร้างเป็นกำแพงห้องน้ำของโรงเรียน จากนั้นจึงทานข้าวเที่ยง แล้วเริ่มเรียนเตหน่าตอนบ่าย
ต้องขอบคุณเทคโนโลยี บทเพลงและบทเรียนเกี่ยวกับไร่หมุนเวียนนี้พาเราที่นั่งอยู่ในเมืองเชื่อมต่อกับธรรมชาติที่มีการหมุนเวียนผันเปลี่ยนอย่างน่าประหลาด เมล็ดพันธุ์รุ่นแล้วรุ่นเล่าเติบโต และส่งต่อสายพันธุ์สู่ชีวิตใหม่
เครดิตผู้เขียน: ณิชา เวชพานิช กองบรรณาธิการ GreenNews